thumbnail

Infographic_COVID-19 rss-icon
  • thumbnail
    27 ม.ค. 2564
    HOW TO ลงทะเบียนเราชนะ
  • thumbnail
    27 ม.ค. 2564
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในปี 2564 จำนวน 3 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจาก ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 2. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 3. การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (การขยายเวลายื่นแบบฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยสรุปรายละเอียดมาตรการได้ ดังนี้ 3.1 ขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็น 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะการยื่นแบบ e-filing 3.2 ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีของเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2564 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการลดภาษีที่ดินฯ และมาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการขยายเวลายื่นแบบฯ ที่จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 2739020 ต่อ 3526 3548 3521 3509
  • thumbnail
    25 ม.ค. 2564
    ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยพักชำระหนี้ 6 เดือน - 1 ปี ให้กับเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ) ที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่ภาครัฐจะประกาศเพิ่ม พร้อมขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 10,000 บาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.baac.or.th นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ โดย ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมจากการพักชำระหนี้ต้นเงินทั้งระบบ เป็นเวลา 1 ปี ที่ดำเนินไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม โดยธนาคารจะดำเนินการ 1) พักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี 2) พักชำระต้นเงินผู้ประกอบการ SMEs สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ ในภาพรวม ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนและฟื้นฟูการผลิต ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารจะให้การอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินและสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำก่อนการเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม 2564) นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้เตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ประกอบด้วย สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ SMEs (Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ และโครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกร จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 รวมทั้งยังจัดทำมาตรการเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้ โดยการบริหารจัดการหนี้และขยายเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ ทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ นายสุรชัยกล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นการดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของกระทรวงสาธารณสุข ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมช่องทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการกับ ธ.ก.ส. โดยสามารถแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้(ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม) ได้ผ่าน LINE Official BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th Call Center 0 2555 0555 และ ธ.ก.ส. พื้นที่ 28 จังหวัด สำหรับสินเชื่อฉุกเฉินสามารถส่งคำขอได้ทาง LINE Official BAAC Family สินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบและสินเชื่อ SMEs (Soft Loan ธปท. ระยะที่ 2) สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และกรณีสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพและสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สามารถติดต่อได้ทั้งทาง LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหลังจากรับเรื่องแล้ว ธ.ก.ส. จะนัดหมายเพื่อทำสัญญา ณ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนาของลูกค้า ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายการอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ขอใช้บริการดังกล่าว ดังนั้น ขอให้โปรดระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากช่องทางที่ ธ.ก.ส. กำหนด
  • thumbnail
    25 ม.ค. 2564
    นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ระยะเวลาการขออนุมัติสินเชื่อสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563 วงเงินอนุมัติแล้วมีจำนวนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม EXIM BANK จึงขานรับนโยบายจากภาครัฐ ขยายระยะเวลาขออนุมัติ “มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 2% ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี รวมระยะเวลา Grace Period 1 ปี สามารถใช้หนังสือค้ำประกัน บสย. เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลค้ำประกันได้ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 4 ปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม Front-end Fee แถมวงเงิน Forward Contract 1.5 เท่าของวงเงินสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาให้บริการตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิถุนายน 2564 “การขยายระยะเวลาให้บริการมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจมาตรการของ EXIM BANK เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมจากมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้น-ดอกเบี้ย ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง และมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการและเติบโตต่อไปได้ ขณะที่ธนาคารจะพิจารณาผ่อนผันและประคับประคองให้ลูกค้าที่มีปัญหาสภาพคล่องสามารถยืดระยะเวลาคืนหนี้หรือได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ชะลอการเกิดหนี้ NPLs ในระบบธนาคาร และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ พร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป” นายพิศิษฐ์กล่าว 20 มกราคม 2564 ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 4120-4
  • thumbnail
    21 ม.ค. 2564
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ โครงการเราชนะ
  • thumbnail
    13 ม.ค. 2564
    ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) พร้อมเคียงข้างลูกค้าทุกสถานการณ์ ออก 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และน้ำท่วมภาคใต้ นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไอแบงก์พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยโควิด-19 และภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยออกมาตรการ 3 มาตรการ เพื่อบรรเทาเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน - มาตรการ 1 มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) สำหรับลูกค้ารายย่อย (ไม่มีสถานะเป็น NPF ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563) โดยธนาคารจะปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อเอนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันจากเดิม SPRR +12% ตลอดอายุสัญญา คิดอัตรากำไรใหม่ เท่ากับ SPRR ตามประกาศธนาคาร รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระสินเชื่อเอนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันออกไปไม่เกิน 5 ปี จากสัญญาคงเหลือเดิม และไม่เกินระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ - มาตรการ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ สำหรับลูกค้าธนาคารทั้งลูกหนี้อุปโภคบริโภค และลูกหนี้ธุรกิจ ซึ่งยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ธนาคารจะพักชำระหนี้เงินต้น และชำระเฉพาะกำไรนาน 1 ปี ขยายระยะเวลาสินเชื่อตามระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้น ยกเว้นเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระที่เกิดขึ้น และอาจจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความรุนแรงของปัญหาเป็นรายกรณี - มาตรการ 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัยภาคใต้ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงธนาคารจะพักชำระเงินต้นและกำไร ระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นพักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะกำไรอีก 6 เดือน ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค อัตรากำไร SPRR – 3.5% ต่อปี สำหรับสินเชื่อธุรกิจ อัตรากำไร SPRL – 2.75% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี ฟรี ค่าธรรมเนียม Front end Fee และจัดทำนิติกรรมสัญญา ยกเว้นบุคคลค้ำประกัน การประเมินราคาหลักประกัน (กรณีเป็นสินเชื่อเดิมแบบมีหลักประกัน) ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม พักชำระเงินต้น และชำระเฉพาะกำไรระยะเวลา 6 เดือน โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมมาตรการจะต้องเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารที่เป็นบุคคลธรรมดาและมีสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือนิติบุคคลที่มีสินเชื่อธุรกิจแบบกำหนดระยะเวลากับธนาคาร ซึ่งมีที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการ หรือคู่ค้าทางธุรกิจ อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตามพื้นที่ประกาศของราชการ และมีสถานะการชำระหนี้เป็นปกติ สำหรับลูกค้าธนาคารที่ประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อสอบถามและเข้าร่วมมาตรการ ได้ที่ไอแบงก์ สาขาที่ใช้บริการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ibank Call Center 1302 *หมายเหตุ: 1. "อัตรากำไร/ผลตอบแทน ผลิตภัณฑ์ธนาคารมิใช่ดอกเบี้ยหรือเป็นคำเรียกแทนดอกเบี้ย แต่มาจากหลักการที่ใช้ในการทำธุรกรรมที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม" 2. อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ คืออัตราที่คำนวณได้จากประมาณการรายได้ของธนาคารและอัตราสัดส่วนการแบ่งผลตอบแทนเงินฝาก ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินฝากที่ธนาคารประกาศเมื่อครบกำหนดการฝาก
  • thumbnail
    13 ม.ค. 2564
    นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ และเกิดผลกระทบในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนได้รับความเดือดร้อน กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ด้านการเงินการคลัง มีความห่วงใยทุกภาคส่วนของสังคมในช่วงที่เกิดวิกฤติ จึงขอประชาสัมพันธ์การอนุมัติ แนวทาง วิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบโดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (กวจ.) ได้ซ้อมความเข้าใจแนวทางบริหารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับ หรือการขยายระยะเวลาทำการ ช่วงที่มีผลกระทบจากโควิด 19 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ กรณีที่เกิดโควิด 19 ก่อนที่หน่วยงานของรัฐลงนามในสัญญาหรือข้อตกลง หากหน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งให้ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก มาลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกไม่สามารถมาลงนามได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วและจำเป็นต้องลงนามในระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้เรียกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกที่เสนอราคาต่ำสุดหรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดมาทำสัญญาหรือข้อตกลง หากไม่ยอมเข้าทำสัญญา ให้ถือว่ามีเหตุอันสมควร ไม่ถือเป็นผู้ทิ้งงาน และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการคืนหลักประกันการเสนอราคาให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย กรณีที่เกิดโควิด 19 หลังจากหน่วยงานของรัฐลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว เนื่องจากโควิด 19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง (2) ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือขยายระยะเวลาการทำตามสัญญาหรือข้อตกลง ดังนี้ 1. กรณีที่สัญญายังไม่ครบกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐนำจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มาขยายระยะเวลาทำการ ตามสัญญาหรือข้อตกลง ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง 2. กรณีที่สัญญาครบกำหนดและมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนำจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ “จำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง” ให้พิจารณาจากกฎหมาย ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการที่ให้หน่วยงานของรัฐปิดทำการ สั่งห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง หรือสั่งห้ามกระทำหรือสั่งการใด ๆ จนถึงวันที่เปิดทำการ หรือวันที่กระทำการ หรือดำเนินการได้ตามปกติ โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1.กรณีสัญญากำหนดแบ่งการชำระเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างออกเป็นหลายงวด และสัญญาได้ครบกำหนดส่งมอบพัสดุแล้ว แต่คู่สัญญายังมิได้ส่งมอบพัสดุในงวดสุดท้าย เนื่องจากมีเหตุที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโควิด 19 เกิดขึ้น และเป็นผลให้สัญญามีค่าปรับ ให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) หากเหตุยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด 19 ไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน และคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวอาจไม่สามารถแจ้งเหตุภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่เหตุนั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้น เพื่อให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินตามสัญญา จึงยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 182 โดยให้คู่สัญญาแจ้งความประสงค์จะของดหรือลดค่าปรับอันเนื่องจากเหตุดังกล่าว ยังไม่สิ้นสุดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนวันที่จะขอแจ้งเหตุเพื่องดหรือลดค่าปรับได้ พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างตามสัญญาโดยยังไม่หักค่าปรับออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างสำหรับการจ่ายเงินในงวดนั้น ๆ ทั้งนี้ เมื่อเหตุที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป (2) หากเหตุดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว และหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณาจำนวนเงินค่าปรับได้ ให้หักค่าปรับออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างสำหรับการจ่ายเงินในงวดนั้น ๆ โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป 2. กรณีสัญญากำหนดแบ่งการชำระเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างเป็นงวดเดียวหรือกรณีที่คู่สัญญาส่งมอบพัสดุในงวดสุดท้าย ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง จากการที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ขยายระยะเวลาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ จึงไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน ดังนั้น จึงให้ถือว่าวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นวันที่คู่สัญญาได้รับผลกระทบ หรือมีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน หรือไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญา และเป็นวันเริ่มต้นของการนับระยะเวลา การให้ความช่วยเหลือเป็นตันมา จนกว่าคู่สัญญาสามารถปฏิบัติงานตามสัญญาได้ตามปกติโดยไม่มีผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักฐานหรือเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ไว้ด้วย การตรวจรับพัสดุของหน่วยงานของรัฐ ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. หากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่สามารถดำเนินการตรวจรับพัสดุได้ตามสัญญาหรือข้อตกลงตามระยะเวลา ที่กำหนด ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุแทนได้ 2. ให้เลื่อนระยะเวลาการตรวจรับพัสดุออกไปก่อน จนกว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะสามารถดำเนินการตามปกติได้ “ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้แจ้งแนวทางบริหารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ช่วงที่มีผลกระทบจากโควิด 19 ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว รายละเอียดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 171 ลงวันที่ 24 เมษายน 2563 และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายละเอียดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 423 ลงวันที่ 10 กันยายน 2563 หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาทำการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
  • thumbnail
    12 ม.ค. 2564
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในการนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้ 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และ 3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน 1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564 2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม - ธนาคารออมสิน โทร. 1115 - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555 - ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 0-2645-9000 - ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 1357 - ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 0-2617-2111 - ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 1302 - บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 0-2890-9999
  • thumbnail
    12 ม.ค. 2564
    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์ ที่ประชาชนได้รับจากมาตรการหรือโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล อันเนื่องมาจากการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) รวม 4 โครงการ ได้แก่ โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” “โครงการคนละครึ่ง” และ “โครงการกำลังใจ” นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและประโยชน์อื่นใดที่ประชาชนได้รับในปีภาษี 2563 จากมาตรการหรือโครงการที่ประชาชนได้รับจากรัฐบาลรวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย โครงการ“เราไม่ทิ้งกัน” ชดเชยรายได้ให้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” “โครงการกำลังใจ” และ “โครงการคนละครึ่ง” สำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังเห็นชอบมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว เป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ
  • thumbnail
    12 ม.ค. 2564
    นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564(จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ 2.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้ 2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น 2.2ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม 2.3พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan 2.4ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือควรรีบติดต่อศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า(call center) ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย 12 มกราคม 2564 ข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทรศัพท์: 1213 Email: fcc@bot.or.th