thumbnail

Infographic_COVID-19 rss-icon
  • 10 ส.ค. 2564
    นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ปรับลดลงและมีการจำแนกประเภทของการตรวจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการตรวจด้วยเทคนิคอื่น ๆ เช่น Antigen test ยังมิได้กำหนดอัตราไว้ชัดเจน กรมบัญชีกลางจึงได้หารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real time RT- PCR - การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ - การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,700 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1.2 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test - ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 450 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ - ด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจาก 1.1 และ 1.2 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2. การเบิกค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล กรณีผู้มีสิทธิฯ ติดเชื้อแต่อาการเล็กน้อย ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท ต่อวัน 3. การเบิกค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา กรณีผู้สิทธิฯ ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้ 3.1 มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท ต่อวัน 3.2 มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาท ต่อวัน 3.3 มีอาการรุนแรง (สีแดง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,500 บาท ต่อวัน 4. กรณีผู้มีสิทธิฯ ต้องเข้ารับการผ่าตัดในสถานพยาบาลของทางราชการและมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ค่าตรวจคัดกรองกรณีดังกล่าว สถานพยาบาลของทางราชการสามารถขอเบิกเงินจาก สปสช. ได้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ให้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานพยาบาลฯ ไม่ต้องแยกทำธุรกรรมในการส่งเบิกค่าตรวจคัดกรองไปยัง สปสช. โดยอนุญาตให้สถานพยาบาลฯ สามารถส่งค่าตรวจคัดกรองมาพร้อมกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลรายการอื่น ๆ สำหรับวิธีการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนด โดยที่กรมบัญชีกลางจะจัดส่งข้อมูลค่าตรวจคัดกรองให้ สปสช. ใช้ประมวลผลการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการโดยตรงต่อไป “แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (เพิ่มเติม) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง หมายเลข 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
  • 3 ส.ค. 2564
    ธ.ก.ส.ร่วมส่งต่อน้ำใจสู่สังคม ด้วยการจัดรถให้บริการขนส่งสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคของผู้บริจาคไปยังบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่ประสงค์ใช้บริการติดต่อได้ที่ Call Center 02 555 0555 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การเข้าไปดูแลช่วยเหลือไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างทันท่วงทีและไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการช่วยขนส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคของผู้ปันน้ำใจไปให้บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการจัดรถให้บริการขนส่งสิ่งของในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความประสงค์บริจาคอาหารหรือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยไปให้บุคลากรทางการแพทย์หรือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยผู้ที่มีความประสงค์ใช้บริการดังกล่าว สามารถติดต่อ ได้ที่ Call Center 02 555 0555 ธ.ก.ส.ในฐานะหน่วยงานของรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและให้บริการกับประชาชน ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนไทยทุกคนก้าวข้ามวิกฤติต่าง ๆ ไปด้วยกัน โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้มีนโยบายให้สาขาทั่วประเทศ เข้าไปสนับสนุน น้ำดื่ม อาหารกล่อง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หน่วยให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ อีกทั้งได้สมทบทุนเงินบริจาคให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อาทิ มูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 มูลนิธิไทยพีบีเอส เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนโครงการตรวจคัดกรองโควิดทันใจ (Rapid Antigen Test) นำไปใช้สำหรับรองรับตรวจสอบการได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นต้น
  • 2 ส.ค. 2564
    ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศขยายระยะเวลาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือผ่าน 6 มาตรการ ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในโครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ครอบคลุมทั้งมาตรการแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พร้อมประกาศปิดลงทะเบียนเข้ามาตรการที่ 15 และ 16 พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเนื่องจากเต็มกรอบวงเงิน และตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนเข้ามาตรการ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ประกาศขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการตาม “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” ในมาตรการที่ 9, 10, 11, 11 New Entry, 13 และ 14 ให้ไปสิ้นสุดระยะเวลาความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาความช่วยเหลือผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ระหว่างวันที่ 1-29 กรกฎาคม 2564 และภายหลังครบกำหนดระยะเวลาลงทะเบียน พบว่ามีจำนวนลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์รวมกว่า 85,900 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 85,700 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง ทำให้ภาครัฐยังคงยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงได้ขยายระยะเวลาการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อเข้ามาตรการ จำนวน 6 มาตรการ ผู้มีสิทธิ์เข้ามาตรการยังขยายให้ครอบคลุมทั้งลูกค้าเดิมที่อยู่ในมาตรการ และลูกค้าที่ยังไม่ได้อยู่ในมาตรการ โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้ โดยมีรายละเอียดของมาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 9, 10, 11 และ 11 New Entry : แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน โดยทั้ง 4 มาตรการครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้ มาตรการที่ 13 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้ มาตรการที่ 14 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ มาตรการที่ 9, 11, 11 New Entry และ 13 ธนาคารขยายระยะเวลาให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 สำหรับมาตรการที่ 10 และ 14 จะขยายถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2564 โดยทุกมาตรการข้างต้นจะได้รับความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และภายในเดือนตุลาคม 2564 ธนาคารจะทำการสำรวจความประสงค์ของลูกค้าอีกครั้งว่าต้องการรับความช่วยเหลือต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือไม่ และสำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์เข้ามาตรการจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL และ GHB Buddy ให้ธนาคารพิจารณา โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30-15.00 น. เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th ส่วนการ พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 ใน มาตรการที่ 15 สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้หรือสถานะกฎหมาย และมาตรการที่ 16 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน) หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ล่าสุด ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ทั้ง 2 มาตรการเป็นจำนวนรวม 90,800 บัญชี เงินต้นคงเหลือรวม 101,000 ล้านบาท และสูงกว่ากรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ดังนั้น ธนาคารจึงขอแจ้งปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 15 และ 16 เนื่องจากมีลูกค้าลงทะเบียนเต็มกรอบวงเงิน และทำการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาตรการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยธนาคารจะประกาศวันที่เปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกครั้งให้ทราบในภายหลังต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL ฝ่ายสื่อสารองค์กร 1 สิงหาคม 2564
  • 22 ก.ค. 2564
    บสย. ออกมาตรการต่อลมหายใจ ผ่อนปรนและบรรเทาให้ผู้ประกอบธุรกิจ ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 เดือน พักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน ผ่อนจ่ายเบา 20% ขั้นต่ำ 500 บาท นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้ออกมาตรการต่อลมหายใจธุรกิจ ผ่อนปรนและบรรเทา ความเดือดร้อนผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้บริการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” กับ บสย. สอดคล้องตามนโยบายและมาตรการของรัฐ เร่งลดผลกระทบของผู้ประกอบธุรกิจให้มากที่สุด ได้แก่ 1. มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม 2 เดือน ผ่อนปรนขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสำหรับลูกค้าปัจจุบัน บสย. ทุกประเภทโครงการค้ำประกัน ทุกกลุ่มธุรกิจ ทั่วประเทศ ที่ครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2564 - 30 กันยายน 2564 2. มาตรการลดค่างวด สำหรับลูกหนี้ประนอมหนี้กับ บสย. ลดค่างวดผ่อนชำระเหลือ 20% หรือชำระขั้นต่ำ 500 บาท/เดือน สูงสุด 6 เดือน แต่ไม่เกินงวดเดือนธันวาคม 2564 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2564 3. มาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่ประนอมหนี้กับ บสย. ในกลุ่มที่เป็นลูกหนี้ประเภทธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจภาคท่องเที่ยว และโรงแรม และกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการภาครัฐ ระยะเวลาการพักชำระไม่เกินค่างวดเดือนธันวาคม 2564 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2564 ภายใต้ มาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบธุรกิจได้มากกว่า 10,000 ราย วงเงินค้ำประกันรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บสย. ยังได้เร่งศึกษาผลกระทบและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจมีความต่อเนื่อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บสย. Call Center 02-890-9999
  • 21 ก.ค. 2564
    ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เรื่อง มาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา นั้น นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ ๓๔ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้ธุรกิจซึ่งมีทรัพย์สิน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และต้องการสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระภาษีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ และสถาบันการเงินและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น และช่วยในเรื่องของสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อทรัพย์สินกลับคืนได้ในราคาที่โอนไป และยังมีมีสิทธิ์เช่าทรัพย์นั้นกลับไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ ทำให้ไม่เกิดภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.rd.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. ๑๑๖๑”
  • 20 ก.ค. 2564
    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการพักชำระหนี้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารออมสินตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย จึงออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใด ๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 และเฟสที่สองช่วงเดือนสิงหาคม ลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทางแอป MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือ ติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา อนึ่ง มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารออมสินประกาศให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ (ให้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง) (2) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ (3) มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) มาตรการแก้หนี้ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด ของ COVID-19
  • 19 ก.ค. 2564
    ธ.ก.ส. สนับสนุนนโยบายกระทรวงการคลัง โดยออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา 2019 (COVID - 19) โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เดือน ผู้ที่สนใจแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจผ่าน LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th และ Call Center 02 555 0555 และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ตั้งแต่ 19 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงการคลังที่มอบหมายให้ธนาคารของรัฐ รวมถึง ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามความสมัครใจ ให้กับลูกค้าเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร โดยพักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกําหนดชําระอย่างน้อย 2 เดือน นับจากงวดชําระเดิม ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบและศักยภาพของลูกค้า เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID - 19 และเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถแจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ https://www.baac.or.th และ Call Center 02 555 0555 หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 และสำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2564
  • 19 ก.ค. 2564
    ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขานรับนโยบายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ออก 2 มาตรการเร่งด่วน ช่วยลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม-ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย มาตรการที่ 15 พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และ มาตรการที่ 16 พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน) หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลงทะเบียนผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 29 สิงหาคม 2564 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ธอส. จึงได้จัดทำ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกค้าทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทยสร้างชาติ ปี 2564” ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้จากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ ซึ่งมีรายละเอียดความช่วยเหลือ ประกอบด้วย มาตรการที่ 15 [M 15] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้หรือสถานะกฎหมาย มาตรการที่ 16 [M 16] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน ) หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับดอกเบี้ยที่พักชำระเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างการใช้มาตรการที่ 15 และ 16 ลูกค้าสามารถทยอยชำระให้เสร็จสิ้นก่อนวันครบกำหนดสัญญากู้เงิน หรือ ปิดบัญชี โดย ธอส. จะเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้ง ความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. – วันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. และจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL
  • 16 ก.ค. 2564
    “กรุงไทย” ขานรับแนวทางธปท. เร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เร่งออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 2 เดือน เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้ลูกค้าเอสเอ็มอี และรายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป พร้อมมีอีก 7 มาตรการช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤต นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบและความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทางการ จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรการนี้สำหรับลูกค้าธนาคาร ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2564 ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ หน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน “การออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในครั้งนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงธนาคารยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้าตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจ โดยธนาคารยังมีมาตรการสำหรับลูกค้าบุคคล ลูกค้าผู้ประกอบการ SME และลูกค้าธุรกิจ เพื่อช่วยลูกค้าธนาคารให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งมีทั้งหมด 7 มาตรการ” มาตรการลูกค้าบุคคล 3 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (สินเชื่อ Home for Cash, สินเชื่อ Home Easy Cash, สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน มาตรการที่ 2 สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน มาตรการที่ 3 สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้ มาตรการลูกค้าธุรกิจ 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี มาตรการที่ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME • ลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน หรือ ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 24 เดือน สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน • ลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ 20-500 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน มาตรการที่ 3 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และให้สิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคารับโอนบวกต้นทุนการถือครองทรัพย์ (Carrying Cost) 1 % ต่อปี บวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าทรัพย์หลังตีโอนที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการที่ 4 โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงิน 50-500 ล้านบาท โดยพิจารณา ตามความสามารถและศักยภาพของลูกค้า เช่น ปรับลดการผ่อนชำระ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ตลอดจนการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่มีแผนธุรกิจชัดเจนภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร สำหรับลูกค้าที่สนใจศึกษาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของธนาคารที่ www.krungthai.com/link/covid-19 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน หรือ Krungthai Contact Center 02-111-1111
  • 1 ก.ค. 2564
    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 อนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลามาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสินตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงมากขึ้น