article

ประวัติกระทรวงการคลัง
21 ธ.ค. 2561
icon 172512
การคลังสมัยกรุงสุโขทัยและอยุธยา

การบริหารการคลังของไทยได้ดำเนินมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นต้นมา แต่ยังมิได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่นี้ โดยเฉพาะพระราชทรัพย์ ได้มาจาก ส่วยสาอากร หรือ ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ภาษีอากร 4 ชนิด ได้แก่ จังกอบ อากร ส่วย และ ฤชา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้มีการจัดระเบียบ การปกครองฝ่ายพลเรือนเป็น 4 แผนก เรียกว่า จตุสดมภ์ ซึ่งประกอบด้วย กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และ กรมนา โดยกรมพระคลังทำหน้าที่ รักษา ราชทรัพย์ผลประโยชน์ของบ้านเมือง มีขุนคลังเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และมี พระคลังสินค้าเป็นที่เก็บและรักษาส่วยสาอากร

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - 2031) ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบราชการวางระเบียบการคลังการส่วยสาอากร และเศรษฐกิจให้รัดกุมทันสมัย ให้ตราพระราชบัญญัติทำเนียบราชการ โดยแบ่ง ราชการออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดี ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เช่นเดียวกัน และมีตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง คือ

  • เสนาบดีกรมเมือง บังคับบัญชาการรักษาพระนครและความนครบาล
  • กรมวัง บังคับบัญชาการที่เกี่ยวกับพระราชสำนักและพิจารณาคดีความของราษฎร
  • เสนาบดีกรมพระคลัง บังคับบัญชาเกี่ยวกับการจัดการรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากส่วยสาอากร และบังคับบัญชากรมท่า ซึ่งเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และยังมีหน้าที่ เกี่ยวกับกรมพระคลังสินค้า การค้าสำเภาของหลวงด้วย
  • เสนาบดีกรมนา บังคับบัญชาการเกี่ยวกับเรื่องนาและสวน การเพาะปลูก พืชพันธุ์ธัญญาหาร
การคลังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367 - 2394) พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน มากกว่าในแผ่นดินก่อนๆ ทรงพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร โดยอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในประเทศไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง ในแต่ละปีเจ้าภาษีจะเสนอรายได้สูงสุดในการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละชนิดให้แก่รัฐบาล เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว เจ้าภาษีจัดแบ่งส่งเงินรายได้แก่รัฐบาลเป็นรายเดือน จนครบกำหนดที่ได้ประมูลไว้ เป็นการเริ่มระบบเจ้าภาษีนายอากรนับแต่นั้นมา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - 2411) ประเทศไทยได้เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ได้มีการลงนามใน สนธิสัญญาบาวริง กับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2398 และกับประเทศอื่นๆ บทบัญญัติในสนธิสัญญาบาวริง มีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลกสถาน (Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา "ร้อยชักสาม" และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น

ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศได้นำ เงินเหรียญดอลล่าร์เม็กซิกันมาขอแลกเป็นเงินไทยมาก จนกระทั่งเงินบาทพดด้วงที่มีอยู่ไม่พอใช้หมุนเวียน ดังนั้นใน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง โรงกษาปณ์สิทธิการ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ดีบุก และทองแดงในราคาต่างกัน

การคลังสมัยรัชการที่ 5

มื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และได้ทรงเริ่มพระราชกรณียกิจ ในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัยทันที ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานการคลัง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนากระทรวงการคลังขึ้นในรัชกาลนี้

ปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลาง สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร ซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงิน ของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ และ ได้พระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบาญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวง ตั้งอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากร ต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาด จัดเก็บภาษีอากร ให้มีเจ้าจำนวนภาษีของพระคลังทั้งปวงมาทำงานในออฟฟิตเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษี นายอากรนำส่งต่อพระคลังแต่ละแห่ง โดยครบถ้วนตามงวดที่กำหนดให้

การกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานหอรัษฎากรพิพัฒน์ และระเบียบข้อบังคับให้เจ้าภาษีนายอากรปฏิบัติโดยเคร่งครัด เป็นการตัดผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานระเบียบการปฏิบัติการภาษีอากรและการเงินของประเทศไว้เป็นครั้งแรก ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบสำหรับปรับปรุงการคลังของประเทศตามพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ไปแล้ว ทรงพระราชดำริว่า การภาษีอากรอันเป็นเงินผลประโยชน์ก้อนใหญ่สำหรับใช้จ่ายในราชการ ทนุบำรุงบ้านเมือง และใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น พระคลังมหาสมบัติยังจัดไม่รัดกุมเป็นระเบียบเรียบร้อย เงินผลประโยชน์ของรัฐบาลยังกระจัดกระจาย ตกค้างอยู่กับเจ้าภาษีนายอากรเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เงินยังไม่พอใช้จ่ายในราชการ และทนุบำรุงบ้านเมืองให้สมดุลย์ จึงทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเคาน์ซิลเลอร์ ออฟ สเตด ( Councillors of State) พร้อมด้วยคณะเสนาบดี

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 ได้ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ และจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ กรมพระคลังมหาสมบัติมีฐานะเป็นกระทรวงเพราะใช้คำภาษาอังกฤษเพื่อเรียกอธิบดีว่า มินิสเตอร์ ออฟ ฟิแนนซ์ ดังนั้น จึงถือเอาวันที่ 14 เมษายน 2418 เป็นวันสถาปนากระทรวงการคลัง สืบมา

ปี พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษา เงิน แผ่นดิน ทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบาญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แบ่งหน่วยราชการส่วนกลางเป็น 12 กระทรวง จัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายในการปฏิบัติราชการ โดยมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งกระทรวงแบบใหม่ ดังนี้

  1. กระทรวงมหาดไทย
  2. กระทรวงกลาโหม
  3. กระทรวงการต่างประเทศ
  4. กระทรวงวัง
  5. กระทรวงนครบาล
  6. กระทรวงเกษตราธิการ
  7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  8. กระทรวงยุติธรรม
  9. กระทรวงยุทธนาธิการ
  10. กระทรวงธรรมการ
  11. กระทรวงโยธาธิการ
  12. กระทรวงมุรธาธิการ

ทั้งนี้ ทรงประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้นให้มีศักดิ์เสมอกัน ทั้ง 12 กระทรวง ยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุสดมภ์ และแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง พระมหาสมบัติ แต่เนื่องจากทรงพระประชวร กรมหมื่นนราธิปประพันธพงศ์ จึงทรงปฏิบัติราชการแทน ต่อมาในปีเดียวกัน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2435 ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งเสนาบดี โดยให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงการคลังมหาสมบัติแทน

เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมหิศรราชหฤทัย เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439-2449) ได้กราบทูลเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง

ปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้มีการจัดทำ งบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเริ่มวางระเบียบการจัดงบประมาณรายจ่าย แล้วรวบรวมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และจะไม่มีการจ่ายเงินเกินงบประมาณโดยที่มิได้รับความเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์ เสียก่อน นอกจากนี้ ยังวางระเบียบการควบคุมการใช้จ่ายเงินของกระทรวงและกรมต่างๆ ทั้งหมด การจัดงบประมาณอย่างคร่าวๆ นี้ เป็นการกำหนดรายจ่ายมิให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลังของประเทศ ใน พ.ศ. 2444 รัฐบาลสามารถ จัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินนี้ โปรดฯ ให้แยกการเงินส่วนแผ่นดิน และส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้นให้พระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการดูแล

การคลังสมัยรัชการที่ 6

พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรัดพระคลังในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458

วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2454 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมเก็บ เป็นกรมพระคลังมหาสมบัติ

ปี พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2456 เพื่อวางระเบียบกำหนดเวลาที่กระทรวงต่างๆ จะต้องยื่นงบประมาณต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เวลาที่จะต้องทูลเกล้าฯ ถวาย กับเวลาที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาต และกำหนดวิธีการจ่ายเงินนอกงบประมาณในระหว่างปี การใช้จ่ายเงินงบประมาณของแต่ละปี กำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม ของปีงบประมาณนั้น

พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรใน และกรมสรรพากรนอก มาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และรวมเป็นกรมเดียวกันเรียกว่า กรมสรรพากร นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยงานใหม่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ คือ

  • กรมตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ตรวจตราเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งทำการรับหรือจ่ายเงินแผ่นดินและเงินอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และขณะเดียวกันเพื่อมิให้มีหน้าที่ปะปนกับกรมตรวจ และกรมสารบาญชี ซึ่งมีอยู่แล้วเดิม จึงได้เปลี่ยนนามกรมตรวจและกรมสารบัญชี เป็นกรมบาญชีกลาง มีหน้าที่จัดระเบียบการประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน และสอบสวนการเบิกจ่ายเพื่อรักษารูปงบประมาณ กับเพื่อให้การเบิกจ่ายได้ปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายของการงบประมาณ
  • กรมสถิติพยากรณ์ภายหลังได้รับการยกฐานะเป็น กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2463 ในปี พ.ศ. 2469 ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร ฉบับปฐมฤกษ์ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยได้มีโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาบาวริง ที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศโดยเฉพาะเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งเดิมจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ จนประสบความสำเร็จและประเทศไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่
การคลังสมัยรัชการที่ 7

ใน พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกำหนด ให้มีกรมราชการกรมหนึ่งในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า กรมเงินตรา มีหน้าที่กระทำกิจทั้งปวงอันเกี่ยวแก่การจำหน่ายและถอนคืนธนบัตร ต่อมาทรงพระราชดำริว่า กิจทั้งปวงซึ่งกรมเงินตรา จะพึงปฏิบัติดังกล่าวมานี้ กรมธนบัตรซึ่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 ได้ปฏิบัติอยู่แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมธนบัตรว่า " กรมเงินตรา" และให้อธิบดีกรมบาญชีกลางเป็นผู้บังคับบัญชากรมเงินตรา ตามประกาศเปลี่ยนนามกรมธนบัตร เป็นกรมเงินตรา วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2471

ในปี พ.ศ. 2473 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมกระษาปณ์สิทธิการลงมามีฐานะเป็น โรงงานขึ้นกับกรมฝิ่นหลวงหรือกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ อย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้โรงกษาปณ์ไทยจึงหยุดการผลิตเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การคลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475)

มื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกด้วย

พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนนามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงการคลัง โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 8 กรม ได้แก่

  1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวง
  3. กรมคลังกรมบัญชีกลาง
  4. กรมพัศดุ
  5. กรมศุลกากร
  6. กรมสรรพสามิตต์
  7. กรมสรรพากร

ปี 2484 ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงการคลังโดยให้ยุบกรมพัศดุ และปี 2495 ได้เปลี่ยนชื่อกรมคลังเป็นกรมธนารักษ์ ปี 2504 ได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังโดยมีฐานะเทียบเท่ากรม จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ให้คำแนะนำและให้ความ ช่วยเหลือทางวิชาการในการวางนโยบายการคลังและเศรษฐกิจของรัฐ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยุบกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติในสำนักงานปลัดกระทรวงมาอยู่ในหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ และแต่งตั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนแรก

ปี 2496 มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กำหนดให้รัฐบาลสามารถจัดตั้งองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยตรงเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นได้ ตามที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือในการครองชีพหรืออำนวยบริการแก่ประชาชนโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณ แผ่นดิน พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นรากฐานของการก่อกำเนิดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลัง มีรัฐวิสาหกิจในสังกัดประกอบด้วย

  1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด
  2. ธนาคารออมสิน
  3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  5. โรงงานสุรา
  6. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
  7. โรงงานยาสูบ
  8. โรงงานไพ่
  9. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด
  10. บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด